ถอดรหัสธรรมชาติ โดย..คนเฝ้าดง..
“ความมหัศจรรย์ในการปรับตัว พรางตัว เลียนแบบ และการร่วมมือของเหล่าสัตว์และพืช“

แมงมุมขี้นกสีขาว Cyrtarachne bufo Bösenberg & Strand, 1906
ทุกครั้งที่ได้ท่องธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางทะเล หรือขุนเขาสูงเสียดฟ้า นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่งดงาม ท่ามกลางสายลม หมู่เมฆ และแมกไม้นานาพรรณแล้ว ผู้เขียนยังชอบสังเกตและบันทึกจดจำ ซึ่งในป่าเขตร้อนอย่างบ้านเรานั้นจักพบสิ่งมีชีวิตอยู่ทั่วไป จนอาจเรียกได้ว่าพื้นที่ว่างทุกตารางนิ้วเป็นบ้านหรือถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับสิ่งมีชีวิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นไลเคนส์ที่เกาะตามก้อนหินหรือบนต้นไม้ ตัวดักแด้ของผีเสื้อที่อาศัยอยู่ใต้ใบไม้ แมงมุมชักใยระหว่างต้นไม้ โดยเฉพาะมดที่เดินขบวนเป็นแถวยาวอยู่ทุกหนทุกแห่ง และแม้แต่บนหลังสัตว์บางชนิดก็ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ชนิดอื่นได้อีก
หลายคนก็คงเคยพบเช่นนี้ แต่จะเหมือนผู้เขียนไหม?ที่มักสงสัยกับสิ่งที่ได้พบเห็น จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น” อาทิเช่น ทำไมต้นไม้ชนิดนี้ถึงมีหนาม แล้วต้นนั้นทำไมถึงไม่มีหนาม บางชนิดมีหนามในระยะแรก และช่วงแตกกิ่งก้านอ่อน พอโตเต็มที่แล้วก็จะปลิดหนามหลุดหายไป , ทำไมเปลือกต้นนี้ถึงหนาและแข็ง ทีต้นนั้นที่เป็นไม้ยืนต้นเหมือนกันกลับมีเปลือกบาง บ้างล่อนออกดูเป็นด่างเป็นดวง , ทำไมไม้ล้มลุกและไม้พุ่มบนภูเขาสูงมีแผ่นใบหนานุ่ม บ้างก็มีขนปกคลุมหนาแน่น , พืชบางชนิดปกติขึ้นตามพื้น ไม่มีรายงานการพบบนต้นไม้ แต่กลับพบขึ้นบนต้นไม้ , ต้นไม้ตามป่าชายเลนมีวิธีการจัดการกับเกลือในน้ำอย่างไร เพื่อให้ตนเองสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ , ทำไมสัตว์ต้องพรางตัวกลมกลืนกับธรรมชาติ , ทำไมสัตว์ชนิดนี้ต้องเลียนแบบเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่ง , ทำไมสัตว์กินเนื้อถึงมีดวงตาอยู่ใกล้กัน แต่สัตว์กินพืชกลับมีดวงตาอยู่ห่างกัน , ทำไมเสือดาวถึงร้องเลียนแบบเสียงลิงได้ เป็นต้น
การทำงานเป็นทีมของมดแดง
เหล่านี้ล้วนมีคำตอบแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอิทธิพลต่างๆของสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องมีการปรับตัว รู้จักป้องกันตัวเองจากผู้ล่า และมีเทคนิควิธีในการหลอกล่อเหยื่อ ด้วยการพรางตัว และการเลียนแบบ ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ หรือเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้นักล่าหรือล่าเหยื่อ เพื่อให้ตนมีชีวิตอยู่รอด และมีลูกหลานสืบพันธุ์ต่อไป
เหล่านี้ล้วนมีคำตอบแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอิทธิพลต่างๆของสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและชีวภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การพยายามมีชีวิตอยู่รอดในธรรมชาติ โดยมีอยู่เพียง 2 สถานะเท่านั้น คือ เป็นผู้ล่า และผู้ถูกล่า ธรรมชาติได้มอบอาวุธบางอย่างในการป้องกันตัวเองและอาวุธบางอย่างเพื่อการไล่ล่าแก่สัตว์แต่ละชนิดตามสายพันธุ์ของมัน ไม่ว่าจะเป็นขากรรไกรที่แข็งแรง พิษ น้ำลาย เส้นใย หมึก เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นศิลปะดึกดำบรรพ์ที่เกิดมาพร้อมๆกับการกำเนิดสัตว์ก็คือ“การปรับตัว”และ“การพรางตัว” สัตว์เหล่านี้ไม่เพียงแต่รู้จักสิ่งแวดล้อมรอบตัวดีเท่านั้น แต่พวกมันนับเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวด้วย หรืออย่างน้อยศัตรูของมันก็คิดเช่นนั้น ธรรมชาติให้วิธีการในการปกป้องตัวมันเอง และให้วิธีการในการไล่ล่าไปพร้อมๆกัน
การปรับตัว(Adaptation)
พืชและสัตว์ทุกชนิดย่อมเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว จุดมุ่งหมายเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้บนรากฐานที่สำคัญ 3 ประการ คือ หาเลี้ยงชีพ สืบพันธุ์ และหลบหลีกหรือต่อสู้ป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะบรรลุจุดหมายได้ก็ต่อเมื่อรู้จักปรับตัวให้เข้ากันได้อย่างเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการที่เรียกว่า“การคัดสรรทางธรรมชาติ”(Natural Selection) สิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้พิสูจน์และคัดเลือกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดมีความเหมาะสมในการมีชีวิตอยู่ได้ ชนิดใดปรับตัวได้ก็อยู่รอดไป ชนิดใดปรับไม่ได้ก็ย่อมต้องสูญพันธุ์จากไป
ตั๊กแตนหนวดสั้นผิวปมมีสีกลมกลืนกับอับเรณู
การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต จำแนกได้ 2 แบบใหญ่ๆ คือ
- การปรับตัวแบบชั่วคราว เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะไปชั่วคราว และเกิดในระยะเวลาสั้น สามารถเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ การปรับตัวแบบนี้พบได้ทั้งในพืชและในสัตว์ เช่น ต้นไม้ที่อยู่ใต้ชายคาจะเอียงลำต้นเบนออกไปให้พ้นชายคาเพื่อหาแสงแดด หรือพืชที่ปลูกกลางแจ้งจะเป็นพุ่มสวยงาม , การเปลี่ยนสีตามสิ่งแวดล้อมของจิ้งจก เขียด และแมง/แมลงต่างๆ , การพรางตัวในการหาเหยื่อ หรือลวงศัตรูของกิ้งก่า กบ เขียด และแมง/แมลง , การจำศีลหรืออยู่นิ่งๆในฤดูหนาวหรือร้อน เป็นต้น
- การปรับตัวแบบถาวร เป็นการปรับตัวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่มองไม่เห็น โดยมีการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมจากบรรพบุรุษไปยังลูกหลาน ทำให้สิ่งชีวิตปรับตัวอยู่รอดได้ และดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้ พบทั้งในพืชและในสัตว์
2.1) การปรับตัวแบบถาวรในพืช เพราะพืชไม่อาจจะวิ่งหลบหนีได้ จึงรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อดำรงชีวิต หรือเพื่อป้องกันตัวเองจากสัตว์กินพืช เช่น กระบองเพชรเปลี่ยนใบเป็นหนาม เพื่อลดการคายน้ำ และป้องกันสัตว์มากัดกิน รวมทั้งมีลำต้นพองอวบน้ำ เพื่อเก็บสะสมน้ำไว้ในลำต้นมากๆ , ผักกระเฉดมีนวมสีขาวหุ้มลำต้น เพื่อช่วยให้ลำต้นลอยน้ำได้ , ผักตบชวามีลำต้นพองเป็นทุ่น เพื่อช่วยให้ลอยน้ำได้ , พืชที่อยู่ที่แห้งแล้งจะมีรากยาวหยั่งลึกลงในดิน เพื่อดูดน้ำได้ไกลๆ , พืชบางชนิดสร้างส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเป็นหนามและขนแข็ง เพื่อป้องกันสัตว์กินพืช , พืชบางชนิดสร้างสารเคมีในผล เช่น แทนนิน(Tannin) เป็นต้น เพื่อทำให้ผลไม้ดิบมีรสฝาด ซึ่งสัตว์ไม่ชอบกิน ต่อเมื่อผลสุกหอมหวานที่พืชยอมให้สัตว์เข้ามากินได้นั้น เมล็ดในผลก็แก่จนพร้อมที่จะงอกและขยายพันธุ์ต่อไป , พืชบางชนิดสร้างสารนิโคตินและสารมอร์ฟีน บ้างก็ผลิตสารเคมีเลียนแบบฮอร์โมนสัตว์ ทำให้สัตว์ที่หลงมากินได้รับอันตราย และเกิดอาการผิดปกติขึ้นในพัฒนาการของร่างกาย หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ เป็นต้น
กระบองเพชรเปลี่ยนใบเป็นหนาม เพื่อลดการคายน้ำ
2.2) การปรับตัวแบบถาวรในสัตว์ เป็นการปรับตัวเพื่ออำพรางศัตรู เพื่อหาอาหาร และเพื่อการสืบพันธุ์ โดยมีการปรับตัว 3 ลักษณะ
(1) การปรับตัวทางด้านรูปร่าง (Physiological Adaptation) ได้แก่
– การปรับตัวของลักษณะปาก เช่น จิ้งหรีดและตั๊กแตนมีปากที่ใช้ในการกัดแทะมีความเจริญแข็งแรงมากกว่าส่วนอื่นๆ , ผีเสื้อและผึ้งมีปากยื่นยาวคล้ายงวงและม้วนเก็บได้ เพื่อไว้ใช้ดูดน้ำหวาน , ยุงและเหลือบมีปากเรียวแหลมยาวคล้ายเข็มฉีดยา เพื่อใช้เจาะทะลุผิวหนังเหยื่อเพื่อดูดเลือด , แมลงวันมีปากคล้ายฟองน้ำไว้เลียหรือซับอาหาร , เหยี่ยวมีปากแหลมคมและงองุ้มเพื่อฉีกเนื้อกิน เป็นต้น
– การปรับตัวของลักษณะหู เช่น กระต่ายมีหูยาว เพื่อใช้รับฟังเสียง เป็นต้น
– การปรับตัวของลักษณะลำตัว เช่น ตั๊กแตนกิ่งไม้และตั๊กแตนใบไม้มีรูปร่างคล้ายใบไม้กิ่งไม้เพื่อพรางตาศัตรู , หอย เต่า นิ่ม และเม่น มีเปลือก กระดอง เกล็ด และขนแข็ง เพื่อป้องกันศัตรู เป็นต้น
– การปรับตัวของลักษณะขา เช่น แมลงกระชอนมีขาหน้าใหญ่แข็งแรงเพื่อไว้ขุดดิน , แมลงสาบมีขาหลังใหญ่เพื่อวิ่งได้เร็ว , ตั๊กแตนมีขาหลังใหญ่ยาวเพื่อกระโดด , กระต่ายมีขาหลังยาวเพื่อกระโดดได้ไกล เป็นต้น
– การปรับตัวของลักษณะเท้า เช่น นกยางมีนิ้วเท้ายาวเพื่อใช้ทรงตัว , เป็ดมีแผ่นหนังขึงระหว่างนิ้วเท้าเพื่อใช้ว่ายน้ำ , ไก่มีเล็บเท้าใหญ่เพื่อคุ้ยเขี่ย , เหยี่ยวมีนิ้วเท้าและเล็บงองุ้มเพื่อใช้จับเหยื่อ เป็นต้น
นกยางเปีย Little Egret
(2) การปรับตัวทางโครงสร้าง(Structural Adaptation) เป็นการปรับตัวให้เหมาะสมกับการดำรงชีพในแหล่งที่อยู่แต่ละแบบ เช่น
– สัตว์เลือดอุ่นเป็นสัตว์ที่มีอุณหภูมิคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ สิ่งแวดล้อมใต้ผิวหนังมีต่อมเหงื่อ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้คงที่
– สุนัขในเขตร้อน..ขนจะเกรียนหรือสั้น ส่วนสุนัขในเขตหนาว..ขนจะยาว
– สัตว์ในเขตหนาวจะมีชั้นไขมันหนา เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย
– สัตว์บางชนิดสร้างกลิ่นเพื่อขับไล่ศัตรู เช่น สกังค์(Skunk) ที่อยู่ในทวีปอเมริกา เป็นต้น
(3) การปรับตัวทางด้านพฤติกรรม(Behavioral Adaptation) เป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับรูปร่างและโครงสร้าง เช่น
– แมงและแมลงที่มีสีพรางตัวเหมือนสิ่งแวดล้อม มักไม่เคลื่อนที่ แต่จะเกาะอยู่นิ่งๆ ทำให้สังเกตได้ยาก
– สัตว์ที่ออกลูกไม่มาก มักหวงแหนและเลี้ยงดูลูก
– สัตว์บางชนิดมีการอพยพย้ายถิ่นฐาน เมื่ออากาศไม่เหมาะสม เช่น นกนางแอ่น นกปากห่าง เป็นต้น
การพรางตัว
หากคุณเป็นคนช่างสังเกต ก็จะพบว่าสิ่งที่โดดเด่น มองเห็นได้ชัดเจนในสิ่งแวดล้อม มักเป็นดอกไม้นานาพรรณ เพื่อเย้ายวนใจดึงดูดให้เหล่าสัตว์มาช่วยผสมเกสร กลับกันเหล่าสัตว์หลายชนิดรู้ว่าสีสันและรูปร่างของตัวเองที่โดดเด่นสะดุดตา เห็นได้ชัดเจน อาจนำภัยมาถึงตัว พวกเขาจึงต้องรู้จักปรับตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เรียกว่า“การพรางตัว”(Camouflage)
การพรางตัวเป็นวิธีการที่ชี้ให้เห็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาตัวเองให้มีลักษณะรูปร่างภายนอกที่ไปคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อม เพื่อซ่อนตัวรักษาชีวิตจากเหล่านักล่า หรือทำเพื่อตบตาเหยื่อในฐานะเป็นนักล่าเสียเอง เพราะผู้ล่าก็ใช่ว่าจะต้องเล่นเกมรุกเข้าหาเหยื่อเสมอไป นักล่าบางชนิดจึงเลือกที่จะทำตัวกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม เพื่อซุ่มรอเหยื่อที่เข้ามาหามันเองอย่างสงบนิ่ง โดยเฉพาะแมงและแมลงเป็นนักพรางตัวที่ยอดเยี่ยม ด้วยการลบเค้าโครงเพื่อให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมจนมองเห็นได้ยาก
ตั๊กแตนกิ่งไม้
เสน่ห์แห่งการพรางตัวของสัตว์แต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันไป เราลองมารู้ทันการเล่นซ่อนหากับเหล่าสัตว์นักนินจาเหล่านี้กันดู
- แมงและแมลง นับได้ว่าเป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษในการพรางตัวสูงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคุณสมบัติพิเศษเช่นนี้ช่วยให้มันสามารถดำรงเผ่าพันธุ์จากเมื่อ 300 ล้านปี จนถึงปัจจุบัน
1.1 ตั๊กแตน(Grasshopper) ในบรรดาแมงและแมลงนั้น ต้องยอมรับว่าตั๊กแตนเป็นสุดยอดของ“เจ้าแห่งการพรางตัว” ตัวอย่างเช่น
– ตั๊กแตนกิ่งไม้ มีอยู่ด้วยกันหลายสกุลหลายชนิด พบกระจายอยู่ทั่วโลก ครั้งหนึ่งท่ามกลางความเงียบสงบของธรรมชาติ ผู้เขียนยืนมองรุ่นพี่อย่าง“หนุ่มสุพรรณ”ที่กำลังขะมักเขม้นกับการถ่ายภาพดอกไม้ จึงได้ยินเสียงเบาๆอยู่เหนือศีรษะ เมื่อเงยหน้าขึ้นมองก็พบว่าเป็นชิ้นส่วนของต้นไม้ยาวราวเกือบ 10 ซม. กำลังเคลื่อนไหวไปมา แรกๆคิดว่าเป็นกิ่งไม้ที่ถูกลมพัดแกว่งไปมา แต่แล้วมันก็ค่อยๆเคลื่อนตัวอย่างช้าๆจนอดตกใจไม่ได้ เมื่อดูอย่างถี่ถ้วนจึงรู้ว่าเป็นตั๊กแตนกิ่งไม้ที่มีสีและรูปร่างคล้ายกิ่งไม้มากๆ โดยมีเปลือกห่อหุ้มลำตัวที่ดูเหมือนเปลือกไม้เป็นร่องๆ ส่วนลำตัวเรียวยาวคล้ายกิ่งไม้ และบริเวณหัวมีตาและปุ่มปม ตลอดจนริ้วรอยคล้ายแผลใบ หากมันเกาะนิ่งก็ยากที่จะดูรู้ได้
ตั๊กแตนกิ่งไม้มักมีสีเขียวหรือสีน้ำตาล ส่วนใหญ่มีขาและหนวดเรียวยาว ในเวลากลางวันจะหลีกเลี่ยงจากศัตรูด้วยการเกาะอยู่นิ่งๆในพุ่มไม้หรือบนกิ่งไม้จนดูคล้ายกิ่งไม้ บางครั้งอาจเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลดูคล้ายกิ่งไม้ที่ถูกลมพัด
– ตั๊กแตนใบไม้(Phyllium sp.) ป้องกันตัวเองจากศัตรูโดยปรับรูปร่างคล้ายกับใบไม้ ไม่ใช่เฉพาะปีกที่มองเห็นคล้ายใบไม้เท่านั้น แต่ขาที่เป็นแผ่นบางๆยังช่วยทำให้โครงสร้างดูกลมกลืนกับใบไม้ นอกจากนี้บางชนิดมีเส้นบนปีกคล้ายกับเส้นใบของใบไม้
ตั๊กแตนใบไม้ สกุล Phyllium ตัวเมีย
ตั๊กแตนใบไม้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด พบกระจายอยู่ทั่วโลก เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่สร้างความประทับใจเมื่อได้พบเห็นครั้งแรก ขณะกำลังนั่งพักหลบแดดใต้ร่มเงาไม้ในช่วงกลางฤดูหนาว ได้ยินเสียงดังกรอบแกรบอยู่ใกล้ตัว เมื่อเหลียวไปดูก็พบใบไม้สีเขียวตองอ่อน 1 ใบ ค่อยๆคืบคลานเดินผ่านกองใบไม้บริเวณพื้นตามฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนสีสันก่อนปลิดใบหลุดร่วงหล่น เมื่อเพ่งดูใกล้ๆก็อดทึ่งไม่ได้กับตั๊กแตนใบไม้ที่พรางตัวอย่างแนบเนียน โดยปีกคู่หน้าของมันมีสีและรูปร่างเหมือนใบไม้ รวมทั้งลวดลายบนตัวที่เหมือนกับเส้นใบของใบไม้ เบื้องหลังการเปลี่ยนสีของตั๊กแตนใบไม้จะขึ้นอยู่กับขึ้นกับอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มของแสงในสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยการทำงานของเซลล์ Epidermis ที่อยู่เหนือผิว Cuticle ซึ่งจะมีเม็ดสี(Pigment Granules)คอยเคลื่อนที่เข้าในเซลล์ เพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ขาที่เป็นแผ่นบางๆยังช่วยทำให้มีโครงสร้างกลมกลืนกับใบไม้ มันหลบหนีศัตรูด้วยการอยู่นิ่งๆตามต้นไม้บริเวณใบ ซึ่งตั๊กแตนใบไม้บางชนิดจะมีสีเขียวทั้งหมดเหมือนใบไม้สด บางชนิดมีสีน้ำตาลเหมือนใบไม้แห้ง นอกจากนั้นเมื่อถูกศัตรูพบเห็นก็มักจะข่มขู่ให้ศัตรูตกใจกลัว ด้วยการแผ่กางปีกที่มีสีสันสวยงามซ่อนไว้ภายในออกมาจนมีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง2เท่า พร้อมกับกรีดปีกให้มีเสียงดัง
ทั้งตั๊กแตนกิ่งไม้และตั๊กแตนใบไม้..มีลักษณะเด่นประการหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นแมลงที่ไม่ค่อยว่องไว มีการเคลื่อนที่ช้า และไม่กระโดด ในช่วงกลางวันตั๊กแตนทั้งสองชนิดจะเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย และแทบแยกไม่ออกจากผืนป่ารอบๆที่พวกมันพรางตัว เพื่อให้รอดพ้นจากเหล่านักล่าตาไวผู้ใช้สายตาในการล่า ครั้นเมื่อตะวันชิงพลบ ทั้งสองต่างจะสลัดคราบความเหนียมอายทิ้งไปเพื่อออกหากินตามกองใบไม้และเศษกิ่งไม้ที่ทับถมบนพื้นป่า เมื่อนั้นเองเราจะได้ชื่นชมกับชั้นเชิงในการพรางตัวอันเก่าแก่ของพวกมัน
ตั๊กแตนกิ่งไม้มีรูปร่างและสีสันคล้ายใบสนเขา
อาจกล่าวได้ว่าทั้งสองต่างพรางตัวทำให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย อันเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ด้านการป้องกันตัว รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีของความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการระหว่างสัตว์และพืชที่มีวิวัฒนาการมานานกว่า 47 ล้านปี และทั้งสองต่างถูกนักวิชาการนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ทางธรรมชาติวิทยา ชีววิทยา ตลอดจนใช้ในการนันทนาการเพื่อปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์
– ตั๊กแตนหนวดยาว มีอยู่ด้วยกันหลายสกุลหลายชนิดที่พรางตัวเป็นใบไม้หรือเปลือกไม้ บ้างก็ถูกปกคลุมด้วยไลเคนส์จนแทบมองไม่เห็นตัว เพื่อป้องกันศัตรู และล่อเหยื่อให้เข้ามาติดกับ โดยช่วงกลางวันนั้นแทบจะไม่ขยับตัว แต่จะออกหากินตอนกลางคืน
1.2 แมงมุม(Spider) ตัวอย่างเช่น
– แมงมุมดอกไม้(Flower Spiders) พบได้ทั่วไปในเขตร้อน มีมากมายหลายชนิด สีของมันมีทั้งสีแดง สีชมพู สีม่วง สีเหลือง และสีขาว ขึ้นอยู่กับดอกไม้ที่มันอาศัยเป็นแหล่งล่าเหยื่อ แมงมุมพวกนี้ไม่ชักใย แต่จะรอจังหวะอยู่นิ่งๆ ด้วยการพรางตัวให้เป็นสีเดียวกับบริเวณของดอกไม้ที่มันเกาะอยู่ เมื่อเหล่าแมลงหรือผีเสื้อเคราะห์ร้ายโฉบเข้ามาดอมดมดอกไม้เพื่อเก็บน้ำหวาน มันก็จะถูกเจ้าแมงมุมตัวงามนี้แยกเขี้ยวฝังพิษใส่ในทันที
แมงมุมสกุล Thomisus sp.
– แมงมุมขี้นกสีขาว(Cyrtarachne bufo) พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย ว่ากันว่าเป็นแมงมุมมีพิษ แต่นักวิชาการบางท่านบอกว่าพิษนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่ก็ยังไม่มีเอกสารยืนยันที่แน่นอน ทางที่ดีก็อย่าไปถูกต้องตัวมันเป็นดีที่สุด ครั้งแรกที่พบเห็นที่ จ.ตราด คิดว่าเป็นขี้นกเปียกๆที่ยังสดอยู่ แต่เพื่อนกลับคิดว่าเป็นเปลือกหอย เมื่อดูใกล้ๆจึงรู้ว่าเป็นแมงมุมที่มีเปลือกแข็งคลุมส่วนท้องเอาไว้ มีสีค่อนข้างคงที่ คือ สีขาวขุ่น มีแต้มสีน้ำตาล โดยเฉพาะที่มุมเปลือกสองด้านที่นูนเด่นมันวาวคล้ายดวงตาสัตว์ประหลาด ชอบหุบขาซ่อนอยู่ในเปลือก ชอบสร้างใยขาวๆออกมาแล้วนั่งทับ แถมยังชอบปล่อยกลิ่นเหม็นเหมือนขี้เยี่ยว จึงยิ่งดูคล้ายขี้นกมากขึ้น สาเหตุแห่งการพรางตัวก็เพื่อหลีกเลี่ยงนักล่า รวมทั้งรอดักจับแมลงที่ชอบกินขี้นกเป็นอาหาร ด้วยการใช้ขาหน้าอันทรงพลังของมันจับเหยื่อ มันจะนิ่งอยู่กับที่ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนเป็นชั่วโมง ปกติจะออกหากินในเวลากลางคืน ซึ่งเคลื่อนไหวได้ช้ามาก และเคลื่อนที่ทางด้านข้างเหมือนปู
แมงมุมขี้นกสีขาว Cyrtarachne bufo Bösenberg & Strand, 1906
1.3 ผีเสื้อกลางวัน(Butterfly) ตัวอย่างเช่น
– ผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดีย(Orange Oakleaf) วงศ์ NYMPHALIDAE พรางตัวด้วยการพัฒนาใต้ปีกของมันให้มีสีและลายคล้ายใบไม้ เวลาหุบปีกจึงมองดูคล้ายใบไม้ ทำให้นักล่ามองผ่าน ซึ่งหากนักล่ามีความคิดและใจเย็นสักหน่อย ก็จะเห็นมันกางปีกเผยความงามเด่นชัดสะดุดตาที่ปกปิดได้อย่างชัดเจน ก่อนจับกินเป็นอาหารอันโอชะ
ผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดีย Orange Oakleaf
1.4 มอธ(Moth) หรือผีเสื้อกลางคืน ตัวอย่างเช่น
– มอธแมงมุม(Brenthia sp.) วงศ์ CHOREUTIDAE มักชอบยกปีกคู่หน้าตั้งขึ้นและปีกคู่หลังกางออก ประกอบกับลวดลายบนปีก ทำให้เมื่อมองผ่านๆดูคล้ายแมงมุมไม่มีผิด นอกจากนี้มันยังชอบอาศัยบนพื้นดินมากกว่าบินบนฟ้า เวลาจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็มักจะกระโดด ทำให้มันเหมือนแมงมุมกระโดดมากกว่าผีเสื้อ ด้วยเหตุนี้ทำให้มันจึงปลอดภัยจากศัตรูของมันอยู่บ่อยๆ
มอธแมงมุม สกุล Brenthia sp.
– มอธวงศ์ผีเสื้อหนอนคืบ(วงศ์ GEOMETRIDAE) ในระยะเป็นตัวหนอนนั้น เป็นนักกินจอมตะกละ ในวัยนี้จะก้มหน้าก้มตากัดแทะกินใบไม้ไม่ได้หยุดหย่อนจนตัวอ้วนพี ส่วนนกนั้นเล่าก็ชอบเขมือบหนอนตัวจ้ำม่ำ ขณะบินเหนือพุ่มไม้พวกมันจะสอดส่ายสายตามองหาหนอนผีเสื้อที่ง่วนอยู่กับการกิน โดยสังเกตจากใบไม้ที่มีรอยแทะ แต่หนอนผีเสื้อในวงศ์หนอนคืบรู้จักพรางตัวป้องกันตัวเอง ด้วยการกัดกินใบไม้อย่างมีศิลปะและประณีตบรรจง มันจะคืบคลานซิกแซ็กไปตามขอบใบไม้ ราวกับช่างเย็บผ้าที่บรรจงเล็มชายผ้าด้วยกรรไกรอย่างคล่องแคล่ว เมื่ออิ่มแล้ว..ใบไม้แต่ละใบก็จะมีรูปร่างคล้ายแบบเดิม เพียงแต่มีขนาดเล็กลงเท่านั้นเอง ไม่น่าเชื่อว่าหนอนตัวเล็กๆจะรู้จักวิธีการที่ซับซ้อนเช่นนี้
ระยะหนอนของมอธทองเฉียงพร้าขีด Dysphania militaris Linnaeus, 1758
- กิ้งก่า(Lizard) โดยทั่วไปกิ้งก่ามี4ขา มีหูด้านนอก และมีเปลือกตาที่เปิดปิดได้ กิ้งก่ามีหลายชนิด บางชนิดมีความยาวแค่ไม่กี่เซนติเมตร เช่น จิ้งจก เป็นต้น แต่ก็มีบางชนิดที่มีความยาวมาก เช่น มังกรโคโมโดของอินโดนีเซียอาจมีความยาวได้ถึง 3 เมตร เป็นต้น แต่มีกิ้งก่าบางชนิดก็ไม่มีขา เช่น กิ้งก่าไร้ขา(Legless Lizard) เป็นต้น
กิ้งก่าเป็นสายพันธุ์หนึ่งของไดโนเสาร์โบราณ จึงสืบพันธุ์ด้วยการวางไข่ ซึ่งจะอาศัยช่วงหลังฝน โดยกิ้งก่าที่ผสมพันธุ์แล้วจะค่อยๆหลบศัตรูลงมาบนพื้นดินใกล้โคนต้นไม้ที่ชุ่มชื้นและนิ่ม เพื่อเลือกที่คุ้ยดินแล้วขุดหลุมวางไข่ทีละหลายฟอง ก่อนคุ้ยดินกลบพอมิด แล้วรีบกลับขึ้นบนต้นไม้ดังเดิม จนหลายวันผ่านไปกิ้งก่าน้อยที่ฟักออกจากไข่ก็จะมุดดินออกมา แล้วรีบเข้าหาต้นไม้ไต่ขึ้นสูงเพื่อหาแหล่งหลบภัยและอาหารต่อไป ทั้งนี้ส่วนอ่อนของพืชหรือยอดพืชซึ่งปกติเป็นที่อยู่ของเพลี้ย หนอน และแมลงที่ล้วนเป็นศัตรูพืชที่คนกำจัดได้ยาก กลับถูกปราบได้ง่ายโดยลูกกิ้งก่าน้อย ฉะนั้นถ้ามีกิ้งก่าตามธรรมชาติมากพอ แมลงศัตรูพืชก็ไม่ระบาด ส่วนตัวกิ้งก่าเองก็มีศัตรูคอยจับกิน เช่น นกกะปูด นกกาเหว่า งูขนาดเล็กต่างๆ โดยเฉพาะมนุษย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือ “การเปลี่ยนสีตัวเอง”
กิ้งก่าหัวแดง ตัวผู้ Calotes versicolor Daudin, 1802
กิ้งก่าเป็นสัตว์บกที่มีความสามารถในการเปลี่ยนสีผิวหนังได้สูง สามารถเปลี่ยนได้หลายสี และมีความหมายของการเปลี่ยนสีหลายแบบ ทั้งเพื่อการสื่อสารกับกิ้งก่าตัวอื่นๆ การเกี้ยวพาราสีในช่วงฤดูผสมพันธุ์ การต่อสู้ป้องกันอาณาเขต รวมถึงการพรางตัวเพื่อป้องกันอันตราย ตัวอย่างเช่น
กิ้งก่ากลุ่มแรกที่เรียกว่า“Chameleon” พบในทวีปแอฟริกาและเกาะมาดากัสการ์นั้น จะเปลี่ยนสีตัวเพื่อสื่อสารกับสมาชิกตัวอื่นเป็นหลัก เช่น กิ้งก่าตัวผู้บางตัวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อมันตกใจ หรือบางชนิดอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำเงินก็ได้ และการเปลี่ยนสีเช่นนี้ยังช่วยให้กิ้งก่าตัวอื่นรู้ว่ากิ้งก่าตัวนั้นมีสุขภาพดี และกำลังต้องการต่อสู้เพื่อป้องกันอาณาเขตของมันจากกิ้งก่าตัวอื่น หรือต้องการผสมพันธุ์กับตัวเมีย แต่ถ้ากิ้งก่าเปลี่ยนเป็นสีเข้มหรือสีดำสนิท แสดงว่ามันรู้สึกหวาดกลัวหรือหนาว เป็นต้น
กิ้งก่ากลุ่มที่สองที่เรียกว่า“Anole” ที่พบเห็นในบ้านเรานั้น กิ้งก่าทุกชนิดในกลุ่มนี้สามารถเปลี่ยนสีตัวเองได้ แต่ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนเปลี่ยนสีผิวได้หลายสีเหมือนพวก Chameleon คงเปลี่ยนสีได้แค่ในช่วงสีน้ำตาลถึงสีเขียว ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความเครียด สีของสิ่งแวดล้อม และอุณหภูมิ หากมันมีสีเขียวอ่อน หมายถึง มันกำลังออกหากินอย่างมีความสุขและไม่เครียด แต่ถ้ามันเครียดขึ้นมาเพียงเล็กน้อย หรือง่วงนอนและอยู่นิ่งๆ มันจะมีสีน้ำตาลอ่อน เพื่อช่วยพรางตัวจากสัตว์นักล่าต่างๆ
กิ้งก่าเปลี่ยนสีได้โดยอาศัยเซลล์เล็กๆจำนวนมากที่แผ่อยู่ใต้ผิวหนัง เซลล์เหล่านี้ประกอบด้วยเนื้อเยื่อสีต่างๆ เมื่อกิ้งก่าหดหรือยืดผิวหนัง ตำแหน่งของเนื้อเยื่อก็เปลี่ยนไป ผิวหนังจึงเปลี่ยนสีไปตามสีของเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้ผิวหนัง โดยมีปัจจัยช่วยอย่างแสงสว่างและอุณหภูมิ ซึ่งมีอิทธิพลในการทำให้กิ้งก่าเปลี่ยนสี รวมถึงความตกใจและความกลัวดังที่กล่าวไปแล้ว
หากเราถือว่าการเปลี่ยนสีผิวได้หลากสีสันเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะของกิ้งก่าก็น่าจะได้ และต่อไปถ้าเรามีโอกาสได้พบกิ้งก่าที่ใด ก็อย่าลืมสังเกตสีบนตัวมันล่ะว่ามันกำลังเครียดหรือมีความสุขอยู่
งูสิงธรรมดา Indochinese Rat Snake
- งู(Snake) นอกจากเป็นผู้ล่าแล้ว มันก็เป็นผู้ถูกล่าด้วยเหมือนกัน ดังนั้นพวกมันจึงมีวิธีที่หลบหลีกศัตรูจากนก หรือสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร จริงอยู่ที่งูบางสายพันธุ์มักชอบเผชิญหน้าต่อสู้กับนักล่าที่มีความแข็งแรงกว่า แต่เมื่อมันเห็นว่าท่าไม่ดีก็จะรีบเลื้อยหนีทันที แล้วทำการพรางตัวด้วยการซ่อนตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งงูสามารถที่จะปรับเปลี่ยนร่างกายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการทำลำตัวยาวตรง การขดตัวเป็นม้วนวงกลม การทำลำตัวเป็นรูปร่างที่ศัตรูของพวกมันจะยากที่จะทำอันตรายได้ งูหลายชนิดก็จะมีวิธีที่อยู่นิ่งๆแล้วศัตรูไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น งูที่มีสีน้ำตาลขาวก็จะใช้วิธีการพรางตัวด้วยการแกล้งตาย , งูที่มีสีเข้มหรือมีจุดเป็นสีขาวสว่างเป็นลายตาข่ายก็จะพรางตัวให้เข้ากับใบไม้แห้งหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆได้ เป็นต้น นอกจากนี้มีงูบางชนิดสามารถปรับเปลี่ยนสีให้คล้ายก้อนหิน ต้นหญ้า หรือให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่มันอาศัยอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น
- รา เป็นปรสิตหรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโพรงด้านในรังของจอมปลวกอย่างอบอุ่น ชุ่มชื้น และปราศจากคู่แข่ง ทั้งๆที่ปลวกขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าบ้านจอมเฮี้ยบ ไม่ยอมให้ใครเข้ามารุกรานได้ง่ายๆ แต่ราเหล่านี้ก็อาศัยอยู่ได้อย่างสุขกายสบายใจ เพราะมันใช้วิธีพรางตัวเพื่อให้มีรูปร่างและผิวสัมผัสเหมือนไข่ปลวกที่สุกงอมนั่นเอง
- สัตว์ทะเล ระบบนิเวศใต้ทะเล โดยเฉพาะแนวปะการัง เป็นระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่รวมกันหลายชนิด ความหลากหลายของชนิดนี้ย่อมนำไปสู่ความหลากหลายของผู้ล่าและเหยื่อ และมีการแก่งแย่งแข่งขันสูง สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหลายชนิดจึงต้องหากลไกเพื่อหลอกล่อ หรือหลบภัยชั้นเยี่ยม
5.1. ทากทะเล(Sea Slug) มีด้วยกันหลายชนิด บางชนิดมีสีสันสดใส บางชนิดพรางตัวด้วยการมีสีกลืนไปกับบริเวณที่มันอาศัยอยู่ อย่างทากทะเลที่อยู่ในป่าชายเลนจะมีลักษณะผนังลำตัวหนาและสีเหมือนโคลนกลืนไปกับพื้นดิน
ทากทะเล
5.2 หมึก หรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า“ปลาหมึก” เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ได้รวดเร็วและว่องไว มีหนวดรอบปาก 4-5 คู่ บนหนวดมีปุ่มดูดเรียงเป็นแถว มีหน้าที่จับเหยื่อป้อนเข้าปาก หมึกเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดในโลกที่สามารถพรางตัวได้ด้วยการเปลี่ยนสีลำตัวได้อย่างรวดเร็วคล้ายกับสีของหลอดนีออน เนื่องจากเซลล์บนผิวหนังของหมึกที่เรียกว่า“Chromatophore” ซึ่งอยู่ด้านบนลำตัวมากกว่าด้านข้างนั้น ภายในมีเม็ดสี ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวก็จะดึงผนังของเซลล์เหล่านี้ให้ขยายใหญ่ขึ้น จึงทำให้สีสันของหมึกสามารถแปรเปลี่ยนไปมาได้ การเปลี่ยนสีของหมึกนั้นไม่ได้ไปเป็นเพื่อการพรางตัวอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังแสดงออกถึงอารมณ์ได้อีกด้วย นอกจากนั้นกลุ่มหมึกกระดองในเวลากลางวันอาจจะซุกซ่อนตัวเพื่อพักผ่อน ด้วยการใช้ท่อพ่นน้ำที่เรียกว่า“Funnel” พ่นพื้นทรายให้เป็นแอ่ง แล้วซุกซ่อนตัวไว้ใต้ทรายนั้น
หมึกยังมีสารเคมีพิเศษที่ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดไหนในโลก นั่นคือ“น้ำหมึก” อันเป็นที่มาของชื่อ“หมึก” น้ำหมึกในหมึกมีไว้เพื่อการป้องกันตัวและหลบหนีจากศัตรูจำพวกปลาขนาดใหญ่ และสัตว์ทะเลกินเนื้อชนิดอื่นๆ เช่น แมวน้ำ โลมา เป็นต้น แท้จริงแล้วน้ำหมึกเป็นเมือกอย่างหนึ่ง ที่มีสารแขวนลอยสีดำเป็นจำนวนมาก และมีลักษณะเป็นของเหลวฟุ้งกระจายในน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งในน้ำหมึกนั้นมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้สัตว์ที่ล่าหมึกนั้นเกิดอาการมึนชาไปได้ชั่วขณะ ประกอบกับหมึกใช้เป็นม่านควันกำบังตัวหนีไปได้ด้วย โดยหมึกจะพ่นน้ำหมึกออกมาจากท่อเดียวกับที่ใช้พ่นน้ำ
หมึก เครดิตรูปภาพจาก https://www.crystaldive.com/blog/squid-in-koh-tao/
ทั้งนี้กลยุทธ์ในการปล่อยน้ำหมึกแล้วหลบหนีอย่างรวดเร็วของหมึกนั้น ชนชาติผู้ผูกพันกับท้องทะเลอย่างญี่ปุ่นได้เลียนแบบ ด้วยการนำมาใช้ผลิตระเบิดควันขนาดเล็กให้เกิดเสียงระเบิดและเกิดควันเพื่อให้เกิดความตื่นตระหนกและเบี่ยงเบนความสนใจในการหลบหนี
5.3 กุ้ง(Shrimp) ส่วนใหญ่กุ้งที่พรางตัวจะเป็นกุ้งขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่น
– กุ้งดอกไม้ทะเล(Pariclimenes sp.) เป็นกุ้งทะเลที่สวยงามมาก อาศัยยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเล ขนนกทะเล แส้ทะเล กัลปังหา และปลิงทะเล พบได้ในทะเลแถบอินโดนีเซีย-ออสเตรเลีย จุดเด่นคือมีลักษณะลำตัวโปร่งใสเป็นสีเดียวกับน้ำทะเลที่ทำให้สังเกตได้ยาก มีจุดสีขาวกระจายอยู่ทั่วไป และมีแถบสีขาวเห็นชัดในส่วนหัว กลางลำตัว และแพนหาง บริเวณปลายแพนหางมีจุดสีส้มล้อมรอบด้วยจุดสีดำ 5 จุด ขาเดินคู่ที่2เปลี่ยนรูปร่างไปเป็นก้ามเพื่อใช้สำหรับจับอาหาร ซึ่งเมื่อมันอาศัยอยู่กับสัตว์ชนิดใด ก็จะปรับสีสันบนลำตัวให้เป็นสีนั้น เช่น อยู่กับขนนกทะเลสีเหลืองก็จะมีลำตัวสีเหลือง อยู่กับขนนกทะเลสีแดงก็จะมีสีแดง เป็นต้น หรือพรางรูปทรงของลำตัวให้เข้ากับสิ่งมีชีวิตนั้นๆ เช่น อยู่กับแส้ทะเลก็จะมีรูปทรงของลำตัวคล้ายกับแส้ทะเล หรืออยู่กับกัลปังหาเส้นยาวๆก็จะมีการพรางรูปทรงของลำตัวให้มีลักษณะยาวๆ กลมกลืนไปกับกัลปังหาชนิดนั้นด้วย เป็นต้น
กุ้งดอกไม้ทะเล สกุล Pariclimenes sp.
5.4 ปลาทะเลตามแนวปะการังในเขตร้อน ก็มีสีสันเช่นเดียวกับปลาน้ำจืดเพื่อใช้พรางตัว โดยมากมีส่วนหลังเป็นสีเข้ม และส่วนท้องมีสีอ่อน เพื่อทำให้ศัตรูมองเห็นจากเบื้องบนได้ยาก รวมถึงมองขึ้นไปจากใต้ทะเลลึก แต่ก็มีหลายชนิดที่พรางตัวด้วยสีสันสดใสที่สุดในอาณาจักรสัตว์ โดยสีจะกลืนไปกลับพืชและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังตามแนวปะการัง ทำให้ได้รับความสนใจจากสัตว์นักล่าแห่งท้องทะเลน้อยลง บางชนิดสามารถเปลี่ยนสีให้กลืนไปกับฉากหลัง ซึ่งสีของปลามักจะเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีดำ รวมทั้งลวดลายที่สวยงามนั้น เกิดจากรงควัตถุที่มีอนุภาคของสารเมลานินอยู่เป็นจำนวนมากในผิวหนัง แสงสะท้อนของอนุภาคเมลานินจะสะท้อนผ่านผลึก“กัวนิน”(Guanine)ที่ปลาขับออกมาจากเมือกทางผิวหนัง ซึ่งสีแดง สีส้ม และสีเหลือง เกิดจากการหดและขยายตัวในเซลล์บนตัวปลา เมื่อได้รับการกระตุ้นจากระบบประสาทอันเนื่องมาจากการมองเห็น ทำให้สามารถปรับสีเข้มและซีดตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ได้
ส่วนมากปลาจะมีสีสันและลวดลายคงเดิมไปจนตลอดชีวิต นับตั้งแต่เล็กจนถึงวัยเจริญพันธุ์ แต่ปลาอีกหลายชนิดเปลี่ยนสีตั้งแต่เล็กจนโต และปลาอีกหลายชนิดก็เปลี่ยนสีเฉพาะในช่วงฤดูสืบพันธุ์
ปลานกขุนทองชนิดหนึ่ง เครดิตรูปภาพจาก https://reefguide.org/halichoeresrichmondi.html
อย่างปลาในแนวปะการังสามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 7 สี ภายในวันเดียวกัน ในขณะที่มันว่ายไปในดงปะการังแต่ละชนิด เช่น ปลาน้ำดอกไม้(Obtuse Barracuda)หรือปลาโชกุน ปลานกขุนทอง(Wrasse) เป็นต้น
ปลาบางชนิดก็พรางตัวกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ตัวอย่างเช่น
– ปลาปากแตร(Trumpet Fish) พบได้ในทะเลเขตร้อน มีลำตัวยาวเรียว โดยเฉพาะปากของมันจะยื่นยาวออกมาคล้ายแตร เป็นนักล่าที่ว่ายน้ำได้ค่อนข้างช้า การหาเหยื่อจึงต้องอาศัยวิธีแฝงตัวอยู่กับปลาอื่นๆ เช่น ปลานกขุนทอง ปลานกแก้ว เป็นต้น โดยการหลบอยู่ด้านหลังของปลาอีกตัวหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อใช้เป็นที่กำบัง และคอยแย่งเหยื่อจากปลาเหล่านั้น บางครั้งมันก็เลือกที่จะอาศัยไปกับปลาชนิดที่กินพืช เพราะมีโอกาสในการเข้าถึงเหยื่อดีกว่าซ่อนอยู่หลังปลากินเนื้อ
– ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ(Ghost Pipefish) บ้างเรียกว่า“ปลาจิ้มฟันจระเข้ขนยาว”หรือ“ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจตัวตลก” เป็นญาติสนิทกับม้าน้ำ มีปากเป็นรูปท่อ มีครับที่พัฒนาให้มีขนาดกว้างใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ซึ่งมีครีบทั้งข้างลำตัว ครีบหลัง ครีบหาง และครีบใต้ท้อง ครีบเหล่านี้สามารถหุบเก็บแนบลำตัวได้ หรือคลี่กางกว้างใหญ่สวยงามเหมือนพัดจีนก็ได้ นอกจากนี้ยังมีติ่งเนื้อที่มีลักษณะคล้ายขนยื่นยาวออกมาตามหน้าตา ครีบ และหาง โดยมันจะใช้อวัยวะส่วนนี้นี่แหละในการพรางตัว ด้วยการปรับรูปทรงและสีสันให้เข้ากับกอกัลปังหาหรือปะการังอ่อนที่มันอาศัยอยู่ ทำให้ดูราวกับเป็นส่วนหนึ่งของกิ่งก้านกัลปังหา โดยปล่อยตัวให้โอนไปเอนมาตามแรงของกระแสคลื่นกระแสน้ำ ทำให้ผู้ล่ามองดูว่าเป็นเพียงกิ่งก้านของกัลปังหาหรือปะการังที่กินไม่ได้ ไม่น่าสนใจ
ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจชนิดหนึ่ง
เครดิตรูปภาพจาก https://www.divecompare.com/blog/the-ghost-pipefish/
– ปลาลิ้นหมา(Large Scale Tongue-sole) บ้างเรียกว่า“ปลาซีกเดียว” มีรูปร่างยาวเรียว ลำตัวแบนราบ มีสีสันและลวดลายบนลำตัวเหมือนกับเม็ดกรวดทรายใต้ท้องทะเล โดยลำตัวซีกซ้ายมีสีส้มเข้ม ด้านขวามีสีน้ำตาลและมีรอยแต้มสีดำอยู่บนกระพุ้งแก้ม ดวงตาทั้งสองข้างอยู่ชิดกันมากและพัฒนาขึ้นมาอยู่บนลำตัวทางด้านซ้ายเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของคำว่าปลาซีกเดียว หัวค่อนข้างแหลม ปากโค้งงอคล้ายตะขอ เกล็ดขนาดใหญ่ ลำตัวด้านขวามีเกล็ดที่มีขอบเรียบ ส่วนด้านซ้ายมีเกล็ดที่มีขอบเป็นหนาม เส้นข้างลำตัวอยู่เฉพาะทางซีกซ้าย มี2เส้น ไม่มีครีบหู ครีบหลังและครีบก้นเชื่อมต่อกับครีบหาง โดยรวมแล้วรูปร่างค่อนข้างน่าเกลียด แต่กลับเป็นอาหารขึ้นชื่อของผู้คนที่นิยมซื้อนำมาทำเป็นอาหาร
แทนที่มันจะว่ายน้ำไปมาอยู่กลางน้ำเหมือนปลาทั่วๆไป มันกลับว่ายน้ำโดยโบกตัวพลิ้วเรียดติดกับพื้นทราย และหาทำเลนอนหมอบอยู่กับพื้นด้วยการแทรกตัวให้เม็ดทรายฟุ้งขึ้นมากลบลำตัวจนมิด คงโผล่มาแต่ลูกตาสองข้างที่พัฒนาขึ้นมาอยู่ด้านบนของลำตัว อันเป็นวิธีการพรางตัวที่แยบยลจนนักล่ายากจะมองเห็น แต่ก็ยกเว้นนักล่าบางชนิดที่มีความสามารถพิเศษอย่างปลาฉลามและโลมา ซึ่งมีคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากบริเวณส่วนปลายของหัว ทำให้สามารถตรวจจับเหยื่อที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นได้
การสร้างสีและปรับสีเพื่ออำพรางนั้น ไม่เพียงแต่ใช้หนีศัตรูเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อการซุ่มรอโอกาสเพื่อเข้าโจมตีเหยื่อด้วย ตัวอย่างเช่น
ปลาหินชนิดหนึ่ง
เครดิตรูปภาพจาก https://www.sunnyskyz.com/blog/228/10-Of-The-Deadliest-Creatures-In-The-World-And-Now-I-m-Never-Going-Outside-Again )
– ปลาหิน(Stonefish) หรือเรียกว่า“ปลากะรังหัวโขน” เป็นปลากินเนื้อที่มีหนามพิษ อาศัยอยู่ตามแนวปะการังในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก มีลำตัวสั้นป้อม แบนข้างเล็กน้อย ปากกว้างอยู่ทางด้านบน ตาขนาดใหญ่มองเห็นได้เกือบรอบตัว จุดเด่นมันมีสีผันแปรตามลักษณะสภาพแวดล้อม ตั้งแต่สีเทาจนถึงสีแดงสด หากินตามพื้น ออกหากินเวลากลางวัน มักพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างกลมกลืนจนสังเกตแทบไม่เห็น เพื่อรอให้เหยื่อว่ายเข้ามาใกล้ ชอบนอนอยู่บนก้อนหินปะการังตายและพื้นท้องทะเล มักเคลื่อนที่โดยใช้ครีบท้องและครีบหู กินปลาขนาดเล็กแทบทุกชนิดเป็นอาหาร
นอกจากปลาหิน ก็มีปลาแมงป่อง(Scorpionfish)และปลาสิงโต(Lionfish)ที่อยู่ในกลุ่มปลาพิษเช่นเดียวกัน ซึ่งนักดำน้ำต้องรู้จักจดจำและคอยระวังอย่าไปถูกมันเข้า พิษของมันนั้นร้ายแรง โดยมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง บวมแดงรอบบาดแผล จากนั้นมีอาการปวดตามข้อ หายใจติดขัด ชัก หมดสติ และอาจจะถึงแก่เสียชีวิตได้
ปลากบ
เครดิตรูปภาพจาก http://sciencewows.ie/blog/mystery-creature-reveal-hairy-frog-fish/)
– ปลากบ(Frogfish) มีนิสัยชอบเกาะนิ่งๆอยู่ตามพื้นมากกว่าที่จะชอบว่ายน้ำ ครีบของมันจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะแก่การว่ายน้ำ แต่จะยื่นออกมาคล้ายกับขาคู่หน้าของกบ มันจึงมักจะเคลื่อนที่ด้วยการก้าวเดิน แทนที่จะว่ายน้ำไป จึงถูกขนานนามว่า“ปลากบ” ขณะที่มันหมอบนิ่งอยู่นั้นจะดูคล้ายฟองน้ำ แถมยังมีขนยาวรุงรังดูคล้ายกอสาหร่าย ลักษณะเด่นของปลาในกลุ่มนี้ก็คือ จะมีก้านครีบด้านบนหัวที่พัฒนาขึ้นมาเป็นก้านเล็กๆยาวใสคล้ายๆคันเบ็ด และที่ปลายก้านครีบนี้จะมีพู่เล็กๆติดอยู่ส่วนบนของหัว ใช้แกว่งไกวไปมาเพื่อให้ปลาที่เป็นเหยื่อหลงกล คิดว่าเป็นหนอน กุ้ง หรือปลาตัวเล็ก เมื่อเหยื่อหลงว่ายเข้ามาก็ตกเป็นอาหารของมันอย่างง่ายดาย ด้วยการอ้าปากที่กว้างใหญ่ฮุบกินอย่างรวดเร็วจนเหยื่อไม่สามารถจะหลบหนีได้ทัน
- สัตว์น้ำจืด ตัวอย่างเช่น
6.1 ปลาน้ำจืดในเขตร้อน ส่วนใหญ่ด้านหลังจะมีสีน้ำเงิน สีฟ้า สีเขียวอ่อน หรือสีน้ำตาลอ่อน ส่วนท้องเป็นสีเงิน สีขาวขุ่น หรือสีเหลืองอ่อน ทำให้ศัตรูที่มองจากด้านบนลงไปจะเห็นสีของตัวปลากลมกลืนไปกับท้องน้ำ หรือหากมองจากใต้น้ำขึ้นมา กล้ามเนื้อที่มีสีซีดจะกลืนไปกับสีของน้ำและท้องฟ้าเบื้องบน ซึ่งแม้แต่เรือรบก็ใช้หลักการนี้ในการทาสีเรือเป็นสองส่วน
ปลาพลวงตะวันตก Neolissochilus stracheyi Day,1871
6.2 ปูแมงมุม(Spider Crab) ตัวอย่างเช่น ปูแมงมุมแคระ(Thai Micro Crab) พบอาศัยในบริเวณที่มีออกซิเจนสูงในแม่น้ำจ้ำพระยา มักเกาะอยู่ตามรากผักตบชวา เป็นต้น มีการพรางตัวได้ดี โดยการที่มันสะสมฟองน้ำและสาหร่ายไว้บนกระดองของมัน บนกระดองของปูจะมีหนามแหลมเล็กเรียงตัวกันช่วยยึดฟองน้ำและสาหร่ายไว้แน่น นอกจากนี้ฟองน้ำและสาหร่ายสามารถเจริญเติบโตบนกระดองปูได้ด้วย จนกลายเป็นพุ่มหนาแน่นช่วยพรางตัวให้แก่ปูได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเหยื่อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแหล่งซ่อนตัว ในที่สุดก็ถูกปูแมงมุมจับเป็นอาหาร
ตั๊กแตนกิ่งไม้ สกุล Sceptrophasma sp.
กลยุทธ์การพรางตัวของสัตว์แต่ละชนิด มันย่อมเลือกให้เหมาะสมว่าตอนนั้นจะเป็นนักล่าหรือผู้ถูกล่า สิ่งแวดล้อมและเป้าหมายของมันย่อมเป็นตัวกำหนดรูปแบบการพรางตัว ว่าจะเลือกใช้กลิ่นลวงหลอก ตบตาด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่น พรางกายให้หายไปกับสภาพแวดล้อม รวมทั้งสร้างเสียงเพื่อให้สับสน กล่าวได้ว่า“ความพยายามของนักพรางกายทั้งหลายสมควรจะได้รางวัลหรือไม่นั้น ไม่มีใครให้คำตอบได้ แต่การรักษาชีวิตให้คงอยู่น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด”
การเลียนแบบ
หลายคนอาจสับสนระหว่างคำว่า“การพรางตัว”และ“การเลียนแบบ” เพราะมันคล้ายกันมาก บ้างก็ว่า“มันพรางตัวด้วยการเลียนแบบสัตว์อื่น” หรือ“มันเลียนแบบธรรมชาติด้วยการพรางตัว”
เคยไหมที่พบผีเสื้อบินมาเกาะใกล้ๆ มองเผินๆนึกว่าเป็นผีเสื้อชนิดหนึ่ง แต่เมื่อเพ่งพินิจดูให้ดีกลับเป็นผีเสื้ออีกชนิดหนึ่ง เป็นเพราะมันมีลวดลายและสีสันคล้ายกันมาก
สงสัยบ้างไหมว่าทำไมผีเสื้อหลายชนิดถึงมีลวดลายบนปีกดูคล้ายกับตาของพวกกลุ่มนกฮูกนกเค้าแมว
พฤติกรรมการเลียนแบบให้ตัวเองมีลักษณะรูปร่างหรือสีสันเหมือนสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เพื่อตบตาสัตว์ต่างๆให้เข้าใจมันผิดไป เรียกว่า“การเลียนแบบ”(Mimicry) ซึ่งสัตว์จะเลียนแบบกันด้วยเหตุผล 2 ข้อ คือ เพื่อให้เป็นที่สังเกตเด่นชัด และเพื่อหลบซ่อน
เหตุผลทั้ง 2 ข้อ อาจดูขัดแย้งกัน แต่ก็เพื่อชีวิตที่อยู่รอดเป็นหลัก คำว่า“หลบซ่อน”คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่คำว่า“เพื่อให้สัตว์นักล่าเห็นเด่นชัด” เพราะมันต้องการให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใจผิด คิดว่าตัวมันมีพิษเช่นเดียวกับสัตว์ที่มันเลียนแบบมา ซึ่งผู้ล่าเหล่านี้ต่างเรียนรู้แล้วว่าสีสันอย่างนี้กินไม่ได้
รูปแบบของการเลียนแบบนั้นจำเป็นจะต้องมี 2 ตัวการหลัก ตัวแรกเรียกว่า“ตัวต้นแบบ”(Model) ตัวที่สองเรียกว่า“ตัวที่ไปเลียนแบบ”(Mimic)ให้คล้ายกับตัวต้นแบบ โดยเฉพาะแมลงที่เป็นนักเลียนแบบที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับการพรางตัว ซึ่งการเลียนแบบของแมลงนั้นมี 2 ทฤษฎีสำคัญ คือ ทฤษฎี“Batesian Mimicry” และทฤษฎี“Mullerian Mimicry” ทั้งสองทฤษฎีของการเลียนแบบมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีรายละเอียดที่ต่างกัน
- ทฤษฎี Batesian Mimicry เป็นทฤษฎีการเลียนแบบเพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่า โดยลวงให้สัตว์ผู้ล่าคิดว่าแมลงตัวนี้มีอันตรายหรือไม่สามารถกินได้ โดยชื่อเรียกทฤษฎีนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่“Henry Walter Bates” นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ หลักการนี้สิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นแบบ มักจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอันตรายหรือมีรสชาติที่ไม่พึงประสงค์สำหรับสัตว์ผู้ล่า และมีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสัตว์ผู้ล่าอาจเคยลองจับกินเป็นอาหารมาแล้ว แต่มีรสชาติไม่อร่อยจนต้องคายทิ้ง ทำให้สัตว์ผู้ล่าเรียนรู้และจดจำไว้ว่าสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบของสีสันบนลำตัวแบบนี้กินไม่ได้ ส่วนสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวเลียนแบบนั้นไม่มีอันตรายใดๆสำหรับสัตว์ผู้ล่า แต่บังเอิญว่ามีสีสันบนลำตัวคล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิตตัวต้นแบบ จึงโชคดีไม่ถูกสัตว์ผู้ล่าจับกินเป็นอาหาร
ซ้าย..ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา และขวา..ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา
ตัวอย่างเช่น “ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา”(Plain Tiger)ที่เป็นแมลงต้นแบบ เนื่องจากตัวหนอนของผีเสื้อชนิดนี้กินใบของต้นรักที่ยางมีความเป็นพิษสูง พิษของต้นพืชอาหารได้สะสมอยู่ตามเกล็ดที่ปกคลุมลำตัว เมื่อสัตว์ผู้ล่ามาจับกินเป็นอาหารก็มักจะรีบคายทิ้งทันที ส่วนตัวผีเสื้อที่เลียนแบบ คือ “ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา”(Leopard Lacewing) ตัวหนอนกัดกินใบกะทกรกหรือพวกเสาวรสเป็นอาหาร ซึ่งไม่มีพิษสะสมในตัวแมลง แต่สัตว์ผู้ล่าไม่จับกินเป็นอาหาร เนื่องจากผีเสื้อกะทกรกธรรมดานั้นมีสีสันและลวดลายบนปีกคล้ายคลึงกับผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา
- ทฤษฎี Mullerian Mimicry เป็นทฤษฎีการเลียนแบบที่ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใดเป็นตัวต้นแบบ และชนิดใดเป็นตัวเลียนแบบ โดยชื่อเรียกทฤษฎีนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่“Friedrich Theodor Muller” นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งทั้งตัวต้นแบบและตัวเลียนแบบต่างก็มีลักษณะที่สัตว์ผู้ล่าไม่พึงประสงค์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรสชาติที่ไม่อร่อย และยังมีความเป็นพิษสูง นอกจากนั้นทั้งตัวต้นแบบและตัวเลียนแบบต่างก็มีสีสันที่คล้ายคลึงกัน โดยมีลักษณะของสีและลวดลายที่บ่งบอกถึงอันตรายแก่สัตว์ผู้ล่า
ซ้าย..ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา และขวา..ผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ
ตัวอย่างเช่น “ผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดา”(Plain Tiger) ซึ่งตัวหนอนสะสมพิษจากการกินต้นรัก และ“ผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ”(Common Tiger) ที่ตัวหนอนกินต้นข้าวสาร ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นเดียวกัน ผีเสื้อทั้งสองชนิดนี้มีลวดลายและสีสันคล้ายกัน หรืออาจกล่าวได้ว่ามีรูปแบบที่เป็นอันตรายแก่สัตว์ผู้ล่าร่วมกันนั่นเอง
เสน่ห์แห่งการเลียนแบบของสัตว์แต่ละชนิดก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกับการพรางตัว อาทิเช่น
- แมงและแมลง นอกจากจะพรางตัวได้ยอดเยี่ยมแล้ว หลายชนิดยังรู้จักเลียนแบบเป็นสัตว์มีพิษ สัตว์ดุร้าย หรือเลียนแบบหลอกให้สัตว์นักล่า หรือเหยื่อ เกิดความไขว้เขวได้อย่างเหลือเชื่อ
1.1 แมงมุม(Spider) ตัวอย่างเช่น
– แมงมุมมด(Ant-mimic Spider) ส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตร้อนจากทวีปแอฟริกาจนถึงทวีปออสเตรเลีย แต่ก็มีหลายชนิดที่พบอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละชนิดก็มีรูปแบบแตกต่างกันไป จุดเด่นของแมงมุมชนิดนี้ คือ เป็นสุดยอดนักปลอมตัวที่แนบเนียนเป็นอย่างมาก พวกมันเลียนแบบมดทั้งรูปร่างและพฤติกรรม บางชนิดก็มีสีดำ บางชนิดก็มีสีแดง บางชนิดก็มีสีออกส้ม ที่จริงแล้วแมงมุมมดไม่มีอันตราย แถมเป็นสัตว์ขี้อาย แต่เสแสร้งทำเป็นแข็งแกร่ง ด้วยการเลียนแบบเหมือนมด ช่วงหน้าของมันคล้ายหัวของมด และยังมีจุดดำๆ2อันที่ทำให้เหมือนลูกตาของมดอีก ขาคู่หน้าของมันยกขึ้นเลียนแบบหนวดของมดและทำให้มันดูเหมือนกับว่ามีแค่6ขาเหมือนมด หากดูเผินๆก็เป็นมดชัดๆ แถมมีปากและเขี้ยวใหญ่ดูน่ากลัว ไม่กล้าเข้าใกล้ นับเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยสกัดกั้นนักล่าหลายรายผู้ไม่พิสมัยแมลงที่มีเขี้ยวเล็บ ดุร้าย และทำงานเป็นทีม อีกทั้งยังมีจำนวนมากมายมหาศาลและครอบครองถิ่นอาศัยกว้างใหญ่อย่างมด
แมงมุมมดกระโดดแดง ตัวเมีย Myrmarachne plataleoides Bhattacharya, 1937
แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหนวดที่ทำท่ากระดิกไปมานั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่หนวด แต่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบมดด้วยการยกขาคู่หน้าส่ายไปมา ด้วยเหตุนี้ทำให้มันสามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มมดได้อย่างสบายๆ โดยมดแดงไม่ทำร้ายมัน แต่กลับจับมดแดงกินเป็นอาหาร แมงมุมกระโดดตัวเมียจะเลียนแบบพฤติกรรมและท่าทางของมดงานธรรมดาๆ แต่ตัวผู้ที่มีปากเป็นรยางค์(Chicerae)ยื่นยาวออกมาและมีเขี้ยวใหญ่ เลียนแบบเหมือนมดทหารที่ดุร้าย หรือมดที่กำลังแบกสัมภาระไว้ในขากรรไกรล่าง กลับประสบปัญหาจากกลยุทธ์พื้นฐานในการเลียนแบบมด เพราะปากที่เป็นรยางค์ยื่นยาวเพื่อใช้จับเหยื่อ และโดยเฉพาะเมื่อจับคู่ผสมพันธุ์นั้น ทำให้การเลียนแบบเหมือนมดไม่แนบเนียนเท่าตัวเมีย
1.2 ผีเสื้อกลางวัน(Butterfly) และผีเสื้อกลางคืน(Moth) มีหลายสกุลหลายชนิดที่บนปีกมีลายเป็นจุดกลมคล้ายดวงตาขนาดใหญ่ มีไว้หลอกสัตว์ผู้ล่าของมันให้คิดว่ามันเป็นดวงตาของนกฮูก หรือดวงตาสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ล่าไม่กล้ามาตอแยด้วย
(1) ผีเสื้อกลางวัน(Butterfly) นอกจากผีเสื้อกลางวันในเขตร้อนที่มีสีสันฉูดฉาด ส่วนใหญ่แล้วจะสร้างรสขมภายในตัว จนสัตว์จำพวกนกไม่สนใจอยากลองลิ้มรสอีกต่อไปแล้ว มันยังรู้จักเลียนแบบเพื่อดำรงชีวิตและสืบเผ่าพันธุ์อีกหลายวิธี ตัวอย่างเช่น
ผีเสื้อสกุล Polyommatus sp.
– Polyommatus sp. วงศ์ย่อย POLYOMMATINAE(หรือวงศ์ย่อยผีเสื้อฟ้า) วงศ์ LYCAENIDAE(หรือวงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน) สามารถดึงดูดเพศตรงข้าม หรือหลบหนีศัตรูได้ โดยการเปลี่ยนสีปีก เช่น จากสีน้ำเงินไปเป็นสีน้ำตาล เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงสีปีกนี้ไม่ได้อาศัยสารมีสีชนิดต่างๆที่อยู่ในปีกของตนเอง แต่อาศัยหลักการหักเหและการสะท้อนของแสงแดดที่มาตกกระทบลงบนปีก โดยหากมุมที่แสงตกกระทบมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย สีที่ปรากฏบนปีกผีเสื้อก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งแสงแดดที่มาตกกระทบกับโครงสร้างที่อยู่ในปีกผีเสื้อในมุมใดมุมหนึ่งจะสะท้อนแสงสีน้ำเงินออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็ดูดซับแสงสีอื่นๆไว้ทั้งหมด ทำให้เราเห็นผีเสื้อมีปีกสีน้ำเงิน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องขยายกำลังสูงส่องดูปีกผีเสื้อสกุลนี้ ก็จะพบรูพรุนที่มีขนาดช่วงนาโนจำนวนมหาศาลเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนผลึกโฟโตนิกส์ในธรรมชาติ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้ตั้งสมมุติฐานว่า“การเปลี่ยนสีของปีกผีเสื้อสกุลนี้ยังเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิได้อีกด้วย”
ผีเสื้อหางมังกรขาว White Dragontail
– ผีเสื้อที่มีหางริ้ว มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ผีเสื้อหางมังกรขาว(White Dragontail) ผีเสื้อหางมังกรเขียว(Green Dragontail) ผีเสื้อหางพริ้ว(Fluffy Tit) ผีเสื้อหางริ้วใต้ขีด(White Imperial) เป็นต้น ตรงส่วนปีกคู่ท้ายพัฒนาเป็นริ้วยาวสีขาว สีดำ หรือสีดำสลับสีขาว ดูคล้ายหนวด วิธีนี้ทำให้ผู้ล่าจู่โจมผิด โดยคิดว่าหางนั้นเป็นหนวด ซึ่งนักล่าจะล่าเหยื่อให้อยู่คามือ ต้องตะปบหมายหัว แต่แล้วผู้ล่าก็ถูกหลอก เพราะผีเสื้อประเภทนี้จะแค่เสียหางไปเท่านั้น และยังสามารถบินหนีรอดไปได้
(2) มอธ(Moth) หรือผีเสื้อกลางคืน ตัวอย่างเช่น
– มอธลายเสือ วงศ์ ARCTIIDAE ป้องกันตัวเองจากค้างคาวกินแมลง ด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงคล้ายกับของผีเสื้อกลางคืนมีพิษที่พวกค้างคาวเกลียดออกมา
มอธลายเสือท้องแดง Arctiine Tiger Moth
– มอธสกุล Erebus sp. วงศ์ NOCTUIDAE เลียนแบบให้ศัตรูเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองเป็นนกฮูกหรือสัตว์ขนาดใหญ่ ด้วยการมีลายจุดกลมขนาดใหญ่บนปีก
มอธสกุล Erebus sp.
1.3 ตั๊กแตน(Grasshopper) ไม่ใช่เพียงเป็น“เจ้าแห่งการพรางตัว” แต่ยังเป็นนักเลียนแบบที่เก่งใช้ได้ ตัวอย่างเช่น
– ตั๊กแตนตำข้าวกล้วยไม้(Hymenopus sp.) เป็นตั๊กแตนตำข้าวที่เลียนแบบสีสันของดอกไม้ ซึ่งในแต่ละระยะของการเจริญเติบโต สีของตัวอ่อนจะเปลี่ยนไปตามวัย เวลา อุณหภูมิของสภาวะแวดล้อม และพันธุกรรมของแต่ละตัว ทำให้มันมีสีที่แตกต่างกัน เช่น สีแดง สีดำ สีขาว สีชมพู และสีน้ำตาล ทำให้แทบจะแยกไม่ออกว่าไหนตั๊กแตน ไหนกล้วยไม้ จึงทำให้มันซุ่มตัวอย่างสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางมวลดอกไม้ เพื่อรอให้แมลงที่หลงเข้ามาไต่ตอมดอกไม้กลายเป็นเหยื่อโอชะของมัน
ตั๊กแตนตำข้าวดอกไม้ไทย..วัยเด็ก
– ตั๊กแตนกล้วยไม้ มีการปรับเปลี่ยนรูปร่างและสีสันให้กลมกลืนกับดอกกล้วยไม้ เพื่อล่อลวงให้เหยื่อหรือแมง/แมลงตัวเล็กๆที่เข้ามาหาน้ำหวานจากดอกกล้วยไม้ และถูกจับกินเป็นอาหาร
ตั๊กแตนกล้วยไม้ Hymenopus coronatus Olivier, 1792
- จิ้งเหลน(Skink) มันไม่ได้เลียนแบบเพื่อเอาตัวรอด หรือล่อเหยื่อให้เข้ามาติดกับ แต่มันเลียนแบบเพื่อต้องการผสมพันธุ์ โดยเฉพาะตัวผู้เป็นสัตว์เจ้าเล่ห์ไม่น้อย ในช่วงฤดูผสมพันธุ์มันมักจะปล่อยกลิ่นออกมาหลอกตัวผู้อื่นว่าตัวมันเองเป็นเพศเมีย เมื่อตัวผู้หลงเข้ามา แล้วปล่อยแท่งสเปิร์มไว้ตรงพื้น เพื่อหวังให้สาวเจ้าเก็บสเปิร์มของมันเข้าในช่องรับ แต่พอหันกลับไปดู ไฉนสาวเจ้าดันวิ่งหนีจากไป ปล่อยให้มันงงเป็นจิ้งเหลนตาแตก ที่ไหนได้ตัวผู้ตัวอื่นสร้างกลวิธีตัวเมียจำแลงเพื่อกำจัดคู่แข่ง เพราะแท่งสเปิร์มที่ปล่อยออกมานั้นต้องใช้พลังงานไม่น้อย จักปล่อยพร่ำเพรื่อไม่ได้ หากมันไปเจอคู่แข่งที่พบสาวเจ้าถูกใจพร้อมกัน มันจะปล่อยสเปิร์มก็ไม่ได้เสียแล้ว
จิ้งเหลนลายอินโดจีน Lipinia vitigera Boulenger, 1894
- งู(Snake) มีหลายชนิดใช้วิธีการเลียนแบบ ด้วยการสร้างรูปร่างและมีสีสันฉูดฉาดเช่นเดียวกับงูสายพันธุ์ที่มีพิษ เพื่อทำให้ศัตรูตกใจและตื่นกลัว เช่น งูปล้องฉนวนบางชนิด(วงศ์ COLUBRIDAE) มีสีสันและลวดลายคล้ายกับงูที่มีพิษอันตรายอย่างงูทับสมิงคลา(Bungarus sp.) , งูหมอก(Psammodynastes sp.) เป็นงูที่ได้รับฉายาว่ามีการเลียนแบบทีท่าและรูปร่างเช่นเดียวกับงูพิษ เช่น งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ เป็นต้น แถมมีพฤติกรรมก้าวร้าว ด้วยการหดคอและลำตัวส่วนหน้าเป็นรูปตัว“S” เสมือนพร้อมจู่โจม บ้างทำท่าขดตัวและยกเชิดส่วนคอและหัวขึ้นมาในท่าทีระแวดระวัง
งูหมอก วัยเด็ก Common Mock Viper
- ตะพาบน้ำ(Soft-shelled Turtle) บางชนิดมีลิ้นลักษณะคล้ายกับตัวหนอน เพื่อลวงให้ปลาขนาดเล็ก หรือปลาชนิดต่างๆที่ต้องการจะกินเหยื่อเข้าใจผิด และเข้ามาใกล้ปากของตะพาบน้ำ ในที่สุดก็ถูกตะพาบน้ำงับกินเป็นอาหารด้วยขากรรไกรที่แข็งแรง
- ปลาทะเลตามแนวปะการังในเขตร้อน บางชนิดมีการป้องกันตัวจากการมองเห็นของศัตรู ด้วยการเลียนแบบให้มีลักษณะเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือสิ่งของต่างๆที่ไม่มีชีวิต เช่น Goosefish ซึ่งฝังตัวตามท้องทะเลจนมองไม่เห็น เป็นต้น
ปลาในเขตร้อนมักจะมีสีสันสดเข้มกว่าปลาในเขตอบอุ่น สีในตัวปลาที่สดเข้มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยในการมองเห็นและจำแนกพวกพ้องเพื่อนฝูงเท่านั้น สีดังกล่าวยังเป็นเครื่องป้องกันอันตราย โดยปลาบางชนิดสร้างลวดลายและจุดสีดำบนตัวเพื่อหลอกศัตรู ตัวอย่างเช่น
– ปลาผีเสื้อเหลืองจุดดำ(Chaetodon sp.) จะมีสีดำกลมที่หาง มองดูเหมือนลูกนัยน์ตา เมื่อศัตรูเข้าโจมตีก็จะเข้าใจผิดคิดว่าที่โคนหางเป็นส่วนหัว และเมื่อศัตรูโจมตีผิดที่ จึงทำให้มันสามารถรอดหลบหนีไปได้
- หมึก นอกจากจะเป็นนักพรางตัวแล้ว ยังมีหมึกอีกหลายชนิดที่เป็นนักเลียนแบบชั้นเซียน ตัวอย่างเช่น
– หมึกยักษ์(Octopus) มันอยู่ในสายพันธุ์หนึ่งของหมึกสาย นอกจากจะมีอาวุธป้องกันตัวเหมือนหมึกทั่วๆไป คือ ปล่อยน้ำหมึกสีดำออกมาจนมืดดำคลุ้งไปรอบตัว พร้อมกับใช้ท่อน้ำขนาดใหญ่พ่นฉีดน้ำให้เกิดแรงดันพาตัวเองพุ่งตัวหลบหนีไปได้อย่างรวดเร็วแล้ว มันยังเป็นนักปลอมตัวชั้นยอด ด้วยลำตัวที่อ่อนนุ่มจึงสามารถเลียนแบบเป็นรูปร่างต่างๆได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเมื่อยามเผชิญหน้ากับปลาสลิดหิน(Damselfish)หรือปลาตัวตลก(Clownfish) มันจะกลายร่างเป็นงูทะเลชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า“Banded Sea Snake” ซึ่งจับเจ้าปลาชนิดนี้กินเป็นประจำ โดยจะซ่อนหนวดไว้ 6 เส้น และทำตัวเป็นเส้นโค้งยาวๆ บางสถานการณ์มันจะแผ่หนวดออกไปรอบๆทุกทิศทุกทางเพื่อเลียนแบบครีบของปลาสิงโตที่มีพิษ หรือหุบหนวดให้ไปทางเดียวกันเพื่อเลียนแบบปลาลิ้นหมา(Flatfish)ที่เป็นปลามีพิษ
หมึกสายเลียนแบบ
เครดิตภาพจาก https://whatlurksbelow.com/15-interesting-facts-about-the-mimic-octopus/
– หมึกสายเลียนแบบ(Mimic Octopus) เป็นหมึกชนิดหนึ่ง พบครั้งแรกของโลกเมื่อปี พ.ศ.2541 บริเวณชายฝั่งสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนมีรายงานพบว่าปลาหมึกชนิดนี้พบกระจายอยู่ตามชายฝั่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปกติมันมีสีน้ำตาลแถบขาว เจริญเติบโตเต็มที่จะมีความยาวถึง 60 ซม. เป็นสัตว์สายพันธุ์แรกที่ถูกค้นพบว่ามีความสามารถเลียนแบบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆได้หลากหลายชนิด มากกว่า 10 แบบ เช่น ปลาลิ้นหมา ปลาสิงโต ปลากระเบน ปูยักษ์ ปลาดาว หอยเชลล์ ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน กุ้งตั๊กแตนตำข้าว กั้งทะเล และงูทะเล เป็นต้น นอกจากนี้มันยังเฉลียวฉลาดถึงขั้นสามารถเลือกว่าควรแปลงร่างของมันเป็นสัตว์ประเภทใด เพื่อขู่ศัตรูให้กลัว หรือให้เหยื่อตายใจหลงเข้ามาติดกับ โดยการแปลงร่างของมันในแต่ละครั้งนั้นมันจะเก็บหนวด กางหนวด เปลี่ยนสี ตลอดจนถึงขั้นเลียนแบบรูปร่างและท่วงท่าการเคลื่อนไหวได้เหมือนต้นแบบทีเดียว
- พืช บางชนิดรู้จักเลียนแบบเช่นเดียวกับสัตว์ แต่ไม่ใช่เพื่อป้องกันตัวจากศัตรู กลับเป็นวิธีล่อให้แมลงเข้ามาช่วยผสมพันธุ์ บ้างก็ล่อให้แมลงเข้ามาติดกับเป็นเหยื่อ เช่น พืชกินแมลง ไม่ว่าจะเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิง หยาดน้ำค้าง เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนเคยกล่าวไปแล้วในเรื่อง“กุศโลบายของดอกไม้” ในที่นี่จึงขอแนะนำเพียงคร่าวๆ ตัวอย่างเช่น
สิงโตสมอหิน Bulbophyllum blepharistes Rchb. f.
– กล้วยไม้(Orchids) พืชทั่วไปล่อแมลงด้วยน้ำหวานอย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ แต่กล้วยไม้เป็นพืชที่ออกจะอัตคัดขัดสนในการผลิตน้ำหวานภายในดอก จึงจำต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือกุศโลบาย ซึ่งกล้วยไม้มีความชาญฉลาดนักในเรื่องนี้ โดยกล้วยไม้บางชนิดจะเสกสรรปั้นแต่งจนดูเหมือนมีน้ำหวาน ด้วยการสร้างขนคล้ายเกสรตัวผู้ที่มีละอองอยู่เต็มไปหมด ผึ้งที่ชื่นชอบเก็บละอองเกสรจึงหลงกลเข้าไปขลุกหวังน้ำหวาน แต่ไม่ได้น้ำหวานกลับรังตามต้องการ ขณะที่เกสรกล้วยไม้ได้ติดแต้มไปตามตัวของมันโดยไม่รู้ตัวเลย กล้วยไม้บางชนิดเก่งกว่านั้นอีก ด้วยการตกแต่งแปลงโฉมดอกจนดูคล้ายกับแมลงตัวเมีย เพื่อล่อให้แมลงตัวผู้หลงกลเข้ามาผสมพันธุ์ บางชนิดสามารถปล่อย“ฟีโรเมน”ช่วยเร่งเร้าดึงดูดผึ้งตัวผู้เข้ามาอีก และยังมีกล้วยไม้สกุลสิงโตที่เกสรจะสั่นไหวเมื่อมีลมพัดดูคล้ายลูกตากรอกไปมา ทำให้แมลงบางชนิดคิดว่ามีแมลงตัวอื่นรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของตน มันจึงรีบออกไปจัดการเพื่อขับไล่ แต่ปรากฏว่าเกสรก็ติดตัวมันไปเสียแล้ว
การร่วมมือ
การร่วมมือเป็นการรวมกลุ่มหรือความสามัคคีระหว่างสัตว์ชนิดเดียว หรือต่างชนิดกัน รวมทั้งระหว่างพืชกับสัตว์
ปกติแล้วสัตว์ที่มีการร่วมมือในการป้องกันตัวเองจากศัตรู หรือล่าเหยื่อ จะเป็นสัตว์ประเภทชอบสังคม คือ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นฝูง เช่น มด ผึ้ง นก หมาใน ช้าง เป็นต้น สำหรับมดและผึ้งคงรู้กันดีอยู่แล้วถึงการร่วมมือร่วมใจกันปกป้องรังและพวกพ้องของตน จึงขอยกตัวอย่างแปลกๆที่ตนได้บันทึกไว้ ตัวอย่างเช่น
หนอนของผีเสื้อหางนกนางแอ่น
เครดิตภาพจาก https://oldthingsrnew.com/2017/12/12/raising-eastern-black-swallowtail-butterflies/)
– ผีเสื้อหางนกนางแอ่น(Swallowtail Caterpillars) เป็นผีเสื้อกลางวัน วงศ์ PAPILIONIDAE ในช่วงวัยหนอนจะเกาะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม ซึ่งมีสีสันดูคล้ายเปลือกไม้ แต่เมื่อใดศัตรูสังเกตเห็นเข้า มันก็จะยื่นหนวดคู่สีเหลืองสดมารวมกันจนดูราวกับเป็นสัตว์ประหลาดตัวน้อย พร้อมทั้งใช้วิธีการป้องกันตัวขั้นที่สอง ด้วยการปล่อยกลิ่นเหม็นคลุ้งออกมาตลบอบอวลไปทั่ว ทำให้สัตว์นักล่าต่างต้องถอยหนีจากไป
– หมาใน(Dhole or Asian wild dog or Asian red dog) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“หมาแดง” อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ โดยฝูงหนึ่งจะมี 1-3 ครอบครัว มีสมาชิกตั้งแต่ 6-12 ตัว หรืออาจมากถึง 25 ตัว สังคมหมาในถือระบบลำดับชั้น จึงมีการวิวาทหรือรังแกกันน้อยมาก การจัดลำดับชั้นไม่ได้วัดกันที่ใครเกิดก่อนหลัง แต่วัดกันที่ความแข็งแกร่งของร่างกาย โดยจะมีการประลองกันตั้งแต่ยังเป็นลูกหมา การต่อสู้เพื่อจัดอันดับนี้จะสิ้นสุดลงเมื่ออายุได้ราว 7 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มออกไปล่าเหยื่อร่วมกับฝูงได้(ใส่รูป 58)
เหยื่อของหมาในมักเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง แม้แต่เสือหรือหมีที่ดุร้าย รวมถึงช้างที่ใหญ่โตและมีเรี่ยวแรงมหาศาล ก็ยังไม่แคล้วถูกฝูงหมาในล่าเช่นกัน ไม่ใช่เพราะว่าหิวโซจนต้องล่าเสือหรือช้าง แต่เมื่อเสือ หมี หรือช้างเพิ่งตกลูกออกมาใหม่ๆ ลูกของสัตว์เหล่านี้มักเป็นที่ชื่นชอบของฝูงหมาในเพื่อล่ามาเป็นอาหาร
การล่าเหยื่อของหมาในมีการทำงานเป็นทีมและเป็นระบบ ปกติจ่าฝูงจะให้สมาชิกในฝูงช่วยกันวิ่งไล่ต้อนเหยื่อให้ลงน้ำ เพื่อให้เหยื่อเคลื่อนไหวได้ช้าลงเมื่ออยู่ในน้ำ โดยที่มีสมาชิกบางส่วนไปดักรอฝั่งตรงข้ามของลำน้ำไว้ล่วงหน้าแล้ว
หมาใน
เครดิตภาพจาก https://www.factzoo.com/mammals/dhole-wild-asian-red-dog.html)
อย่าคิดว่ามันกลัวน้ำนะครับ เพราะมันชอบน้ำมาก มักลงน้ำหลังจากกินอาหาร โดยจะนั่งแช่น้ำตื้นๆ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือเย็นก็ตาม
แต่หากเห็นว่าวิธีแรกไม่ได้ผล ก็จะใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ ให้สมาชิกบางส่วนกินน้ำเข้าไปเยอะๆ แล้วไปปัสสาวะหรือฉี่รดพื้นหรือสุมทุมพุ่มไม้ที่กำหนดไว้ว่าจะต้อนเหยื่อให้เข้ามา กลิ่นฉี่ของหมาในรุนแรงมากจนทำให้เหยื่อเกิดอาการตาฝ้าฟางอยู่นาน ก่อนที่จะถูกจับกินเป็นอาหาร แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มันรอดได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นเหตุการณ์กว่า 10 ปีแล้ว ณ ห้วยดงวี่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนฯ ขณะเวลากำลังล่วงเข้าตีสาม ผู้เขียนและรุ่นพี่อย่างหนุ่มสุพรรณฯต่างก็ตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงอะไรสักอย่างเดินเข้ามาชนสิ่งของบริเวณแค้มป์ ก่อนจะเห็นว่าเป็นเลียงผา แล้วมันเข้ามาได้อย่างไร ไม่กลัวคนหรือ และทำไมดูเหมือนมันจะเดินสะเปะสะปะราวกับตาบอด สิ่งที่สงสัยได้รับความกระจ่างเมื่อพี่เจ้าหน้าที่เขตฯบอกว่า“สงสัยถูกฉี่หมาใน” และแล้วหลักฐานก็ตามมาเมื่อได้ยินเสียงหมาในร้องดังลั่นอยู่รอบแค้มป์ ราวกับว่าให้เราปล่อยเชลยของมันออกมา ทั้งเจ้าหน้าที่ฯและพวกเราจึงต่างช่วยกันสุมไฟจากที่เป็นเพียงถ่านแดงๆให้ความอบอุ่นเวลานอน กลับให้ลุกโชติช่วงสว่างจ้าอย่างร้อนแรง แต่กว่าฝูงหมาในจะถอนทัพกลับไปก็กินเวลานานกว่าชั่วโมง ตอนนี้แต่ละคนต่างตาแข็ง นอนไม่หลับแล้ว จึงช่วยกันหุงหาอาหารมื้อเช้า ส่วนเจ้าเลียงผาเพศผู้ที่น่าสงสารนั้นพี่เจ้าหน้าที่ฯเขาใช้เชือกล่ามไว้กับต้นไม้ใกล้ๆแค้มป์ จวบจนตะวันส่องแสงสว่างจ้า จึงแกะเชือกออกจากตัวมัน แล้วตักน้ำจากลำห้วยดงวี่มาสาดใส่หน้าของมันอยู่ 3-4 ครั้ง ชั่วครู่เมื่อมันปรับสภาพสายตาได้ มันก็ร้องลั่นดังเอิ๊กๆ ก่อนวิ่งหายลับไปในพงไพร
การล่าเหยื่อของหมาในยังมีอีกหลายแบบ ด้วยการส่งเสียงเลียนแบบเสียงเหยื่อ เพื่อล่อให้เหยื่อตายใจคิดว่าเป็นพวกพ้องของตน
สำหรับการร่วมมือระหว่างพืชกับสัตว์ ตัวอย่างเช่น
– กล้วยไม้(Orchids) มีหลายชนิดที่จะแพร่พันธุ์และอาศัยเติบโตในรังมดที่อยู่บนคาคบไม้ใหญ่ เมื่อกล้วยไม้โตขึ้น มด(Ants)ก็จะใช้รากกล้วยไม้ขยายรังออกไป ในขณะเดียวกันกล้วยไม้ก็จะได้ธาตุอาหารจากรังมด และมดก็จะช่วยป้องกันกล้วยไม้จากรังของมัน รวมถึงจากสัตว์จำพวกหนอนหรือจิ้งหรีดอีกด้วย
มดกับพืช
ความในใจของผู้เขียน
การปรับตัว พรางตัว เลียนแบบ และการร่วมมือเพื่อต่อสู้นักล่าหรือล่าเหยื่อ ล้วนมีความเจ้าเล่ห์แสนกลต่างกันไป นับเป็นความสามารถทางวิวัฒนาการของสัตว์ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแนบเนียน เพราะผู้ที่แข็งแกร่งและปรับตัวเองตามธรรมชาติได้เท่านั้นจึงจะสามารถอยู่รอด สิ่งเหล่านี้ “Charles Darwin”ได้อธิบายไว้ในกระบวนการที่เรียกว่า“การคัดเลือกโดยธรรมชาติ”(Natural Selection)
แมงมุมหมาป่า สกุล Hippasa sp.
เรื่องราวการพรางตัวและเลียนแบบที่ยกตัวอย่างให้เห็นนี้ ทำให้มนุษย์อย่างเรายังต้องทึ่งกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของเหล่าสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ และรู้ว่าความพยายามและความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมนั้น จึงจะช่วยให้เราและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดดำรงชีพอยู่บนโลกใบนี้ได้ โดยไม่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………….